1 วัดธาตุคำ

วัดธาตุคำ เดิมชื่อว่า วัดกุฏิคำ ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกว่าวัดใหม่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกำแพงเมืองชั้นใน กับกำแพงเมื่อชั้นนอก อาณาเขตวัดเดิมกว้างขวาง ด้านหน้าวัดเป็นถนนสุริยวงษ์ซึ่งเป็นถนนออกจากประตูเชียงใหม่ อันเป็นประตูกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ ไปสู่ประตูก้อม ซึ่งเป็นประตูเมืองกำแพงชั้นนอก เส้นทางนี้เดิมสมัยโบราณ เป็นทางสำหรับคนเมืองเชียงใหม่ เดินทางไปสู่เมืองลำพูน หากพิจารณาจากพระประธานในพระอุโบสถและลักษณะการสร้างวัด คาดว่าน่าจะเป็นวัดหลวงซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น และเป็นวัดใหญ่มาก่อน ต่อมาเมื่อพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ พระอารามแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละได้อพยพครัวไทเขิน ไทลื้อมาจากสิบสองปันนา และเชียงตุงมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงจัดสรรพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ให้ตั้งถิ่นฐาน ในครั้งนั้น “เจ้าสารัมพยภูมินนรินทราเขมาธิปติราชา” เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงก็ได้ย้ายมายังเมืองเชียงใหม่ พร้อมไพร่ฟ้าข้าไทยอีกจำนวนหนึ่ง พระอารามหลายๆ แห่งในบริเวณนั้น
ที่อยู่ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
2 วัดนันทาราม

วัดนันทารามได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2060 ในสมัยของพระเมืองแก้ว ณ ที่ถวายพระ เพลิงพระยอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชบิดา แล้วจัดให้ มีการสมโภช ซึ่งวัดนี้คงมีมาก่อนแล้ว เพราะในตำนาน มูลศาสนากล่าวถึงวัดนันทารามว่าเป็นวัดใหญ่และมี ความสำคัญ เมื่อ พ.ศ.๑๙๘๗ พระนันทปัญญา วัดนันทารามได้เป็นพระสังฆราชและเป็นอาจารย์ของพระมหาญาณคัมภีระ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแดง ซึ่งเป็นผู้นำพุทธศาสนาแบบสิงหลนิกาย หรือพุทธ ศาสนาแบบลังกาวงศ์มาสู่เมืองเชียงใหม่
ที่อยู่ ถนนนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
3 วัดผาลาด

วัดผาลาด อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย โดยมีพื้นที่ที่กันออกจากอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกา ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ การที่ได้ชื่อว่า “ผาลาด” นั้น สันนิษฐานว่าคงมาจากลานหินที่กว้างและลาดลงเป็นทางยาว มีธารน้ำที่ไหลลงน้ำตกที่สวยงาม ในเอกสารของวัดผาลาดในการเชิญร่วมทำบุญบูรณะวัดผาลาดได้อ้างตำนานพระเจ้าเลียบโลกไว้ว่า ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ยังดินแดนแห่งนี้ ได้มาเทศนาโปรดชาวลัวะใต้ต้นบุนนาค จากนั้นทรงเสด็จไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นลานหินในลำธาร ทรงประทับนั่ง ทอดพระเนตรและรำพึงว่าเมืองนี้จะเป็นมหานครใหญ่ ศาสนาของพระตถาคตจะมารุ่งเรืองมั่นคงที่เมืองนี้ จากนั้นก็ประทับรอยพระบาทลงบนหินก้อนหนึ่งให้เทวดาไปเก็บรักษาไว้ในถ้ำ และรอยพระบาทนี้จะปรากฏออกมาเมื่อถึงกาละเวลาอันควร นอกจากนี้วัดผาลาดยังมีประวัติศาสตร์ร่วมกับพระธาตุดอยสุเทพอีกด้วย ในตำนานพระธาตุพระมหาธาตุเจ้าสุเทพ เชียงใหม่ กล่าวไว้ว่า เมื่อพระสุมนเถระรับอาราธนานิมนต์จากพระญากือนา ได้ตั้งศาสนาไวัที่วัดพระยืน นครหริภุญไชยแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดสวนดอก โดยพระญากือนาได้สร้างถวายไว้ยังบริเวณสวนดอกไม้พะยอมของพระองค์ พระสุมนเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยมายังเชียงใหม่ และเมื่อครั้งนั้นพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์แตกออกมาเป็นองค์ย่อยๆ หลายองค์ ส่วนหนึ่งได้ประจุไว้ในพระธาตุวัดสวนดอก อีกส่วนหนึ่งในตำนานมูลศาสนากล่าวว่าได้ไปประดิษฐานไว้ที่เมืองตาก โดยให้เมืองตากเป็นเมืองกลางที่คนล้านนาและสุโขทัยต่างเดินทางไปนมัสการพระธาตุได้โดยเสรี หลังจากที่เมืองตากขึ้นกับล้านนาในสมัยพระญาฅำฟูเป็นต้นมา อีกส่วนหนึ่งพระญากือนาก็ตั้งจิตอธิษฐานหาสถานที่อันจะตั้งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยให้ช้างเผือกนำพระบรมสารีริกธาตุเสี่ยงทายสถานที่อันจะตั้งพระบรมสารีริกธาตุ ช้างเผือกเดินทางมายังทิศตะวันตก แล้วไปหยุดอยู่ยังสถานที่หนึ่ง จึงบอกให้ช้างนอน ช่างก็ไม่นอน แล้วเดินทางต่อไป สถานที่แห่งนั้นเรียกว่า ดอยช้างนูน ต่อมาเรียกว่าดอยหมากหนุน (บริเวณนี้ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเอกชน) จากนั้นช้างก็เดินทางต่อไปยังยอดดอยที่หนึ่ง มีสัณฐานราบเสมอกัน ก็กราบนบพระธาตุ ๓ ที ว่าจะของตั้งพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่แห่งนี้ ช้างก็หยุดอยู่ที่นั้น ผู้คนจึงเรียกที่แห่งนั้นว่า “๓ ยอบ” ต่อมาเรียกใหม่เป็น “๓ ยอด”แล้วช้างเดินทางต่อไปจนถึงยอดดอยสุเทพ ในเอกสารของทางวัดกล่าวว่า ช้างมงคลมาหยุดพักยังที่แห่งนี้ก่อนที่จะขึ้นสู่ดอยสุเทพ บางสำนวนก็เล่าว่า มาถึงจุดนี้คนที่ติดตามมา ลื่น หรือภาษาล้านนาเรียกว่า “ผะเลิด” จึงเรียกว่า ผาลาด ก็มี จากจุดนี้ขึ้นไป จะเป็นทางที่ชันมาก วัดผาลาดจึงเหมาะอย่างยิ่งทีจะเป็นจุดพัก และเป็นจุดพักครึ่งทางในการเดินขึ้นดอยสุเทพพอดี ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ตอนรบศึกกับพระญาไสยลือไทยแห่งสุโขทัยนั้น พระญาไสยลือไทยได้มาตั้งทัพอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน และได้เดินทางมาสระผมถึงดอยผาลาดหลวงแห่งนี้ด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ คราที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จขึ้นดอยสุเทพ ในระหว่างเสด็จลงนั้น ทรงแวะประทับร้อนที่ผาลาด ด้วยวัดผาลาดเป็นจุดแวะพัก ระหว่างทาง สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดนอกจากสภาพพื้นที่อันกว้างขวางแล้ว ยังมีบ่อน้ำไว้สำหรับดื่มอีกด้วย การขุดบ่อน้ำริมน้ำห้วยนี้นับว่าเป็นการกรองน้ำจากลำห้วยอีกทอดหนึ่ง ด้วยไม่นิยมดื่มน้ำจากลำห้วยโดยตรง ในเอกสารของทางวัดกล่าวว่า บ่อน้ำนี้มีการสร้างทับซ้อนกันหลายยุคหลายสมัย นอกจากนี้ยังโบราณสถานที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งนั่นคือพระพุทธรูปบริเวณหน้าผา ในเอกสารทางวัดกล่าวว่า พระพุทธรูปแต่เดิมเป็นศิลปะเชียงแสน และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่ง นามว่า พระไล่กา หรือ ภาษาล้านนาเรียกว่า “พระเจ้าเกิด็กา” ว่าเป็นพระพุทธรูปไล่กาไม่ให้บินไปยังดอยสุเทพ และดอยสุเทพจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าดอยกาละ ส่วนพระพุทธรูปหน้าผานี้ เมื่อมีการบูรณะโดยช่างชาวพม่าก็มีการบูรณะเป็นศิลปะแบบพม่าไป รวมถึงอาคารที่ครอบพระพุทธรูปนี้ไว้ โดยเรียกว่า ศาลาชมศิลป์ พระเจ้าเกิด็กา ได้กล่าวไว้ใน “ค่าวฮ่ำตำนานดอยสุเทพเจ้า” ของขนานหลวงเป็ง กาวิโล และปริวรรตโดยพระครูสิริพัฒนานุกูล วัดพวกหงษ์ พร้อมกับได้พรรณนาการเดินทางขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยสุเทพ ในเส้นทางเดินเดิม ก่อนที่จะมีการสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นไปบนดอยสุเทพ ได้บอกไว้ว่าอยู่เลยวัดผาลาดขึ้นไป “…ที่ผาลาดหลวง อารามที่พัก เป๋นวัดเก่าเกื้อ บัวราณ มีเจติยะ ศาลาวิหาร ริมหนทาง ขึ้นไปธาตุเจ้า อกพุทโธ คนโซแก่เฒ่า หัวใจ๋ดีใน ชื่นย้าว พ่องเอาอาหาร กล้วยไข่กล้วยค้าว ไปใส่เข้า ปูชา พ่องเอาดอกไม้ ธูปเทียนบุบผา ไปถวายปูชา องค์พระที่ไหว้ พระเจ้าเกิ๊ดก๋า ชื่อนามบอกให้ เป๋นที่คนไป ยั้งพัก” ในค่าวเรื่องนี้ได้บรรยายถึงการหยุดพักบริเวณวัดผาลาดโดยเฉพาะในเทศกาลเดินขึ้นดอยว่า มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของและมีการละเล่นกันบริเวณจุดพักแห่งนี้ และถือว่าเป็นจุดวัดบุญของแต่ละคนด้วย หากใครบุญไม่ถึงก็จะเกิดเหตุให้ไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ ศาสนาสถานหลายแห่งสร้างขึ้นในสมัยของครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ทั้งมฑทปครอบบ่อน้ำ, วิหารที่สร้างโดยชาวไทลื้อ-พม่า ศิษย์ครูบาเทิ้ม วัดแสนฝางและ ศิษย์ครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย, เจดีย์โดยช่างกลุ่มเดียวกับวัดมหาวัน เป็นต้น ส่วนแนวความคิดของวัดสกิทาคา เริ่มปรากฎหลังสมัยครูบาศรีวิชัย ดังปรากฏในนิราศพระธาตุดอยสุเทพ ของ แมน สุรตโน ที่ว่า “สร้างถนน ผลมี มั่งจีรัง บางตอนยัง ย้ำชัด สร้างศรัทธา คือขั้นตอน ปฏิบัติ สร้างวัดก่อน เริ่มขั้นตอน ต้นคิด ปริศนา คืออาราม นามมี ศรีโสดา สกิทาคา อนาคา- มี- นัย อรหันต์ ชั้นสุด ถึงจุดยอด ทางตลอด ผาลาด ก็ขาดไข..” ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงพ่อสวัสดิ์ สุขกาโม ได้จาริกมาปฏิบัติธรรมยังวัดผาลาด ต่อมาก็อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุดอยสุเทพ และก็ปล่อยให้รกร้าง กระทั่ง วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ จึงได้รับประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการยกวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ปัจจุบันมีพระครูธีรสุตพจน์ (พระมหาสง่า ธีรสํวโร) เป็นเจ้าอาวาสและได้ทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่
ที่อยู่ 101 บ้านห้วยผาลาด หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
4 วัดพวกช้าง

พระวิหารวัดพวกช้าง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หน้าบันพระวิหารมีลักษณะแบบม้าต่างไหม แต่ก็ประดับประดาด้วยลวดลายวิจิตรพิสดาร ละเอียดอ่อนช้อย ลงสีทองสร่าง ผนังด้านหน้าพระวิหารทาสีฟ้าสด มีภาพจิตรกรรมเหล่าเทวดานางฟ้า บานประตูแกะสลักไม้ลวดลายเทพพนม ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ปากแดงตามแบบอิทธิพลศิลปะพม่า ฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่วิจิตรงดงามมากนักหากเทียบกับวัดอื่นๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณค่าทางจิตใจแล้ว ไม่น่าจะแพ้วัดใดๆ ผนังด้านหลังพระประธานเป็นงานจิตรกรรมสีแดงตัดทองประดับกระจก รูปแบบเลขาคณิตง่ายๆ แต่ก็มีความงดงามล้ำลึก ผนังด้านข้างภายในพระวิหารเป็นภาพเขียนสีเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดอีกแห่งหนึ่งคือ “ศาลาบาตร” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างใหม่ด้วยโครงสร้างหลังคาแบบล้านนา ถือเป็นศาลาที่งดงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ด้านหน้าประดับตกแต่งเป็นสวนขนาดเล็ก มองดูแล้วสบายตาดี ภายในศาลาบาตรนี้ประดิษฐาน “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบกษัตริย์โบราณ สวมมงกุฎ สังวาล ธรรมรงค์ พาหุรัด กลางหน้าผากประดับด้วยอุนาโลมสีแดง นั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานดอกบัว ด้านหลังเป็นกู่แบบล้านนา งดงามอ่อนช้อยมาก นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าฮินดู เทพแห่งความรู้และศิลปวิทยาการ ประดิษฐานอยู่ในศาลาบาตรเช่นกัน
ที่อยู่ ถนนศรีดอนไชย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
5 วัดศรีดอนไชย

วัดศรีดอนไชยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตกำแพงเมืองชั้นนอก ถ.ช้างคลาน ซึ่งจากการสัมภาษณ์ของผู้รอบรู้ ท่านได้กล่าวว่า ประวัติวัดศรีดอนไชยนั้นไม่เป็นที่ปรากฎแน่ชัด แต่มีคำบอกเล่าลือกันมาว่า เดิมชื่อว่าวัดป่ากล้วยเป็นวัดร้าง ซึ่งต่อมาพระโพธิรังสีมารชีสะ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา บูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูวัดศรีดอนไชยขึ้นมาซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่ทราบกันว่าท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย และหลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหารต่อจากนั้นมา เหตุการณ์และประวัติไม่ปรากฎที่แน่ชัดซึ่งมีพระปลัดอินตุ๋ยมาเป็นเจ้าอาวาสมาจนกระทั่งถึงพระครูวิสุทธิสังฆการเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน ต่อมาท่านยังกล่าวว่า วัดศรีดอนไชย ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของครูบาศรีวิชัยในสมัยที่ท่านถูกอธิกรณ์มาจากลำพูน โดยท่านครูบาศรีวิชัย ท่านได้มาพำนักอยู่ ณ วัดศรีดอนไชย เป็นเวลา 3 เดือน จึงเดินทางไปกรุงเทพมหานคร
ที่อยู่ เลขที่ 90/1 ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 51000
6 วัดหมื่นตูม

วัดหมื่นตูม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2021 สร้างในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว คำว่า หมื่นตูม เดิมเป็นขุนนางท่านหนึ่ง มียศบรรดาศักดิ์เป็น หมื่น ส่วนของท่านชื่อ ตูม นายทหารนี้มีความเลื่อมใสศรัทธา ต่าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นำญาติ บริวาร ศรัทธาประชาชน ร่วมกันช่วยสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา เมื่อสร้างวัดนี้เสร็จ จึงเรียกชื่อว่า วัดหมื่นตูม ตามชื่อผู้นำสร้างถวาย ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์ราชวงศ์มังรายพระองค์ใหม่จะขึ้นครองราชย์ต้องผ่านการประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษกก่อน ซึ่งพิธีนี้จะจัดขึ้นที่วัดสำคัญ ๓ แห่งตามลำดับขั้นตอนของพิธี กล่าวคือ กษัตริย์จะต้องทรงชุดขาว ซึ่งกระทำที่วัดผ้าขาว จากนั้นจึงเข้าพิธีสะเดาะเคราะห์ที่วัดหมื่นตูมแห่งนี้ แล้วจึงสิ้นสุดด้วยพิธีสรงน้ำที่หนองน้ำวัดเจ็ดลิน
ที่อยู่ เลขที่ 106 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
7 วัดหัวฝาย

วัดหัวฝายเป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณชาญเมือง ตามหนังสืออ้างอิงวัดหัวฝายสร้างเมื่อ พ.ศ. 2130 เดิมชื่อวัดศรีสร้อยทรายมูล เนื่องจากทางวัดไม่ได้มีการบันทึกประวัติการสร้างวัดไว้ อาศัยคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถ่ายทอดกันมา คาดว่าวัดนี้ชาวบ้านน่าจะร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนในหมู่บ้าน เพราะในอดีตที่ตั้งของวัด ในปัจจุบันอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่และอยู่กลางทุ่งนา คงไม่ใช่วัดที่สร้างขึ้นโดย กษัตริย์หรือข้าราชการ ขุนนาง น่าจะเป็นวัดที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมามากกว่า วัดศรีสร้อยทรายมูล หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดปูคำ” เพราะว่าสถานที่ตั้งของวัดอยู่บริเวณทุ่งนา มีปูมาอาศัยในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเมื่อครั้งที่ยอดพระธาตุของวัดพังลงมา มีชาวบ้านเห็น ปูเงิน ปูคำ มาอาศัยอยู่บริเวณพระธาตุ เพื่อรักษาองค์พระธาตุ จึงเรียกกันว่า “วัดปูคำ” หรือบ้างก็เรียกว่า “วัดน้ำปู” เพราะวัดตั้งอยู่กลางทุ่งนามีปูมาก ชาวบ้านเมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็มักจะจับปูไปทำน้ำปูกิน จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดน้ำปู“ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ”วัดหัวฝาย” เพราะบริเวณใกล้วัดเป็นฝ่ายกั้นน้ำ (บริเวณศูนย์-ประชาสัมพันธ์ เขต3, โรงพยาบาลแม่และเด็กในปัจจุบัน) โดยชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวจะไปเอาน้ำที่ฝายนี้มาใช้ในการอุปโภค-บริโภค และที่สำคัญคือชาวบ้านใช้น้ำจากฝายใน การทำการเกษตร ต่อมาเนื้อที่บริเวณข้างฝายดังกล่าวเป็นที่ดินดอนออกมา ชาวบ้านจึงเข้ามาตั้งที่ อยู่อาศัย และทำมาหากินในบริเวณนี้มากขึ้นเรื่อยๆจากทุ่งนาก็กลายเป็นหมู่บ้าน วัดหัวฝายจึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นศูนย์รวมใจของคนในบริเวณนี้เรื่อยมา วัดหัวฝายได้รับพระราชทาน วิสุงคสีมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 เขตวิสุงคสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ที่อยู่ 154 ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50100
8 วัดหมื่นสาร

วัดหมื่นสารมีปรากฏตั้งแต่สมัยพระเจ้าลกติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย องค์ที่ 12 ครองนครเชียงใหม่ เมื่อจุลศักราช 804-840 (พ.ศ. 1985- 2021) ในตำนานพระสิลาว่า ในสมัยนั้น พระมหาญาณโพธิอยู่สำราญในวัดป่าแดงที่นั้น พระลกติโลกราช ทรงสั่งให้ หมื่นคำภา เวียงดิน นำเอาพระสิลาเจ้าไปถวายแด่พระมหาญาณะโพธิในวัดป่าแดงที่นั้นแล ส่วนพระมหาญาณะโพธิเถระเจ้า ก็ให้ทำสักการะบูชาและสรงพระสิลาเจ้าด้วยสุคนธวารี มีประการต่าง ๆ ในขณะยามนั้น ห่าฝนอันใหญ่ก็หลั่งไหลลงมาเป็นอันมากก็มีแล ในกาลเมื่อนั้นอำมาตย์ใหญ่ผู้หนึ่งมีนามว่า หมื่นหนังสือวิมลกิตติ เป็นสังฆการีนั้น ก็ให้สร้างวิหารในวัดหมื่นสารแล้วก็ไปอาราธนาเอาพระสิลาเจ้าจากวัดป่าแดงมาประดิษฐานไว้ในวัดหมื่นสาร เพื่อให้จำเริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาต่อไปภายหน้า มหาสวามีเจ้าตนเป็นสังฆนายกอยู่ในวัดหมื่นสารมีนามว่า พุทธญาณเถร ก็ไปยังวัดสวนดอกไม้แล้วก็อาราธนาพระสิลาเจ้าไปเพื่อกระทำสักการะบูชาแล้วนิมนต์กลับมาวัดหมื่นสารดังเดิมนั้นแล ซึ่งแสดงว่าวัดหมื่นสารมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าลกติโลกราชแล้วและคงเป็นวัดสำคัญเพราะเจ้าอาวาสเป็นถึงชั้น “มหาสวามีสังฆนายก” นอกจากนี้ยังปรากฏในพงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติหน้า 401 บรรทัดที่ 10 กล่าวว่า ลุศักราช 884 (พ.ศ. 2065) พระเจ้าอาทิตยวงศ์ เสวยราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แต่งราชทูตมาสืบทางราชไมตรีพระเจ้าเชียงใหม่จัดการรับรองราชทูตพอสมควรแปลพระราชสาส์นยังวัดหมื่นสารดังนี้ ซึ่งในสมัยนั้นตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์เม็งราย และในตำนานวัดต่าง ๆ (ธรรมก้อมหรือธรรมประวัติเรื่องสั้น) จารไว้ในใบลานด้วยอักษรพื้นเมืองซึ่งพระมหาหมื่นญาณวุฑฒิ วัดเจดีย์หลวง ได้กล่าวถึง การตั้งชื่อวัด คำว่า “ หมื่นสาร ” ไว้ว่า ศักราช 888 (พ.ศ. 2069) สมัยแผ่นดินพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์นครพิงค์ องค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์เม็งรายธานี แห่งแคว้นลานนาไทย สมัยนั้นมีเสนาอามาตย์ ผู้หนึ่ง ชื่อวิมลกิตติ (นายทหารยศชั้นหมื่น) ได้ฐาปนาพระอารามนี้ขึ้น โดยมีบาลีกล่าวไว้ซึ่งแปลได้ว่า อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้วสำหรับหมื่นวิมลกิตตินี้มีชื่อปรากฏอยู่หลายแห่งหลายสมัยหลายกษัตริย์ด้วยกัน เมื่อสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระศิลานั้นอยู่ในสมัยพระเจ้าลกติโลกราช และปรากฏในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เมื่อสร้างวัดร่ำเปิง เป็นสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย และเมื่อฐาปนาอารามวัดหมื่นสารครั้งหลังนี้อยู่ในสมัยพระเมืองเกษเกล้าดังกล่าว ชื่อเต็มของท่านมีชื่อว่า “ หมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ” เป็นสังฆการีและเกี่ยวกับการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ท่านได้อุปถัมภ์วัดหมื่นสารมาตลอด วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดหมื่นสาร”
ที่อยู่ 13 ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50100
9 วัดอุปคุต

ชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า “พระบัวเข็ม” ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยวนว่า พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวนจะเรียกว่าเป็น “วันเป็งปุ๊ด” พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนในวัน “เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญวันพุธ” เป็นการตักบาตรยามเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ พบมากในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับเอาอิทธิพลจากพม่ามาเมื่อครั้งอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมือง ขึ้นของพม่า
ตามตำนานเชื่อว่าวันเป็งปุ๊ดเป็นวันที่ “พระอุปคุต“ หรือ “พระบัวเข็ม“ ผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร มีชื่อเสียงในการปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้ายและเป็นพระเถระสำคัญในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราชจะละบำเพ็ญฌานจากใต้ท้องสมุทร เพื่อมาโปรดสัตว์โลก โดยจะปลอมตัวเป็นเณรน้อยออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรกับพระอุปคุตแล้วเชื่อว่าจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล และได้รับความคุ้มครองจากพระอุปคุต จึงทำให้ชาวล้านนาเตรียมจัดเตรียมอาหารและออกมาใส่บาตรกันในยามค่ำคืนเป็น จำนวนมาก
สำหรับปีนี้มีวันพุธที่ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวงถึง2 ครั้ง โดยในครั้งแรกผ่านไปแล้วในเดือนมกราคม และครั้งที่สองจะเกิดมีขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ โดยพระสงฆ์และสามเณรจะเริ่มออกบิณฑบาตในคืนวันอังคารที่ 11 ตุลาคม หลังเที่ยงคืนช่วงรอยต่อกับเช้าวันพุธ ในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทำบุญในงานเป็งปุ๊ดมากเป็นพิเศษเนื่องจาก ตรงกับวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันบุญใหญ่ของชาวพุทธ
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดอุปคุต อันมีตำนานเกี่ยวเนื่องกับพระอุปคุตและเป็นเพียงวัดหนึ่งเดียวในดินแดนล้าน นาที่สืบสานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า250 ปีก็จะมีการจัดงานใหญ่ขึ้นเช่นกัน โดยพระสงฆ์จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22:00 น. ก่อนขบวนพระสงฆ์และสามเณรจะออกบิณฑบาตหลังเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ
ที่อยู่ ถนนท่าแพ ด้านสะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
10 วัดพระสิงห์วรวิหาร

วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะ เชียงแสนรู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง วัดพระสิงห์ มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นที่รู้จักและ คุ้นชื่อกันอย่างดี วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทาง มาเคารพ สักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธา ประชาชนได้พากันมา สรงน้ำเนื่อง ในเทศกาลปีใหม่ ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระสิงห์
1.โบสถ์
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็น แบบศิลปะล้านนา โดยแท้ ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณ ซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็น วงกลม สองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทอง วิจิตรพิศดารมาก
2.หอไตร
สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะประดับ อยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้น ใหม่ที่ฐาน หอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน
3.วิหารลายคำ
วิหารลายคำนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรม เขียน เรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทอง พบเพียงแห่ง เดียวที่นี่
ที่อยู่ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200